พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดอาคารที่ทำการศาลฎีกา

  • 3 ปีที่แล้ว
เวลา 17.32 น. วันที่ 7 ธันวาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารที่ทำการศาลฎีกา ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธยุติธรรมโลกนาถ ทรงศีล จากนั้น ทรงเปิดอาคารที่ทำการศาลฎีกา ซึ่งก่อสร้างขึ้นใหม่บนที่ดินของศาลฎีกาหลังเดิม เนื่องจากชํารุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับมีจํานวนคดีเข้าสู่การพิจารณาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้องเพิ่มจํานวนบุคลากรให้เพียงพอต่อปริมาณคดี พร้อมกับขยายพื้นที่ใช้สอย เริ่มก่อสร้างปี 2555 แล้วเสร็จปี 2562 เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ขนาด 5 ชั้น ประกอบด้วย ห้องพิจารณาขนาดใหญ่ 1 ห้อง ขนาดกลาง 2 ห้อง ขนาดเล็ก 2 ห้อง และห้องทํางานผู้พิพากษา 225 ห้อง ศาลฎีกาได้เข้าทําการในอาคารหลังนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 มีพระพุทธยุติธรรมโลกนาถ องค์ครุฑ และตราแผ่นดิน ประดิษฐานอยู่ด้านทิศเหนือ ส่วนด้านทิศใต้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธโคดมบรมมุนีเจ้าปกเกล้าศรีตุลาการ อันเป็นที่เคารพสักการะของเหล่าตุลาการ โอกาสนี้ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก แล้วพระราชทานของที่ระลึกแก่ข้าราชการตุลาการในศาลฎีกา จำนวน 120 ราย
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทรงฉลองพระองค์ครุยตุลาการศาล ยุติธรรม พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานพระราชดํารัส
"อาคารที่ทำการศาลฎีกา ซึ่งได้สร้างขึ้นใหม่บนที่ตั้งอาคารที่ทำการหลังเดิมนี้ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์แห่งการยุติธรรมของไทย อันนับเนื่องมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการปฏิรูประบบศาล และสร้างศาลสถิตยุติธรรมขึ้น ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกานี้ ก็เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง นอกจากจะเป็นที่สำหรับประชุมกันเพื่อคัดเลือกผู้พิพากษาให้ทำหน้าที่วินิจฉัยตัดสินคดีต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญและคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นที่สำหรับประชุมใหญ่ เพื่อพิจารณาและตีความข้อกฎหมายสำคัญ ๆ อันนำไปสู่บรรทัดฐานในการบังคับกฎหมายของประเทศด้วย ข้าพเจ้าเชื่อว่า ทุกท่านทุกฝ่ายผู้มีส่วนร่วมในงานศาลยุติธรรม คงจะมีความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติของที่ทำการแห่งนี้ ทั้งคงจะได้รำลึกถึงความสำคัญของหน้าที่ที่แต่ละคนมีอยู่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ จึงขอให้ทุกท่านตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ในหลักวิชาการและกฎหมาย ประสบการณ์ที่ได้สร้างสมมา รวมทั้งวิจารณญาณที่ถูกต้องตามหลักเหตุผลและหลักธรรม เพื่อจรรโลงรักษาความยุติธรรมอันเที่ยงแท้ ให้บังเกิดความวัฒนาผาสุกแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป"
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณด้านหน้าอาคารศาลยุติธรรม ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะ พระอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ซึ่งอาคารศาลยุติธรรม เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นยุคแรกเริ่มในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี 2482 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ศาลฎีกาเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุด มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาได้โดยตรง และอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์ หรือฎีกาคําพิพากษา หรือคําสั่งของศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์-ศาลอุทธรณ์ภาค โดยคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลฎีกานั้นจะถือเป็นที่สุด นอกจากนี้ยังมีภารกิจตามที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎ