สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจที่จังหวัดสกลนคร

  • 3 ปีที่แล้ว
เวลา 12.30 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงวางพวงมาลัย และทรงสักการะปูชนียสถานสำคัญ ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงสำคัญของจังหวัด มีปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง คือ พระธาตุเชิงชุม สร้างขึ้นเพื่อครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 24 เมตร ยอดฉัตรทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ น้ำหนัก 247 บาท สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด เชื่อกันว่าหากใครได้มากราบองค์พระธาตุฯ จะทำให้ผู้นั้นเกิดบารมีและเป็นสิริมงคลสูงสุด ภายในวัดฯ ยังมีปูชนียสถานสำคัญอื่น ๆ อาทิ พระอุโบสถ อยู่ทางทิศเหนือของวัดฯ ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ด้านหลังมีภาพจิตรกรรมไตรภูมิ นรก สวรรค์ และโลกมนุษย์, และพระวิหาร ซึ่งอยู่ติดกับพระธาตุฯ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อพระองค์แสน พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดง รำโฮมเหง้าเมืองสกลนคร และทรงร่วมรำกับคณะนางรำชมรมคนรักพระธาตุเชิงชุม และกลุ่มสตรีสกลนคร จำนวน 625 คน ที่แต่งกายด้วยชุดสาวภูไท และไทญ้อ ฟ้อนรำผ่านบทเพลงที่มีเนื้อหาบอกเล่าถึงประวัติและความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวสกลนคร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เวลา 14.53 น. เสด็จไปยังหอประชุมจามจุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในงาน สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป จำนวน 42 ราย ใน 20 จังหวัดจัดขึ้น อาทิ กลุ่มชุมชนภูไทดำ, กลุ่มไหมสมเด็จ, กลุ่มสตรีทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน จากจังหวัดกาฬสินธุ์ นำผ้าไหมแพรวา ผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท ด้วยการเก็บลายจากการเก็บและจกขิด ที่มีลวดลายโดดเด่นได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรษและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง, กลุ่มทอผ้าไหมแต้มหมี่บ้านหัวฝาย และกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จากจังหวัดขอนแก่น นำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ที่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาจัดแสดง รวมถึงผ้าย้อมครามธรรมชาติสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดสกลนคร ที่ปัจจุบันมีชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ และวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับเงิน และทอง จากจังหวัดสุรินทร์, อุบลราชธานี และงานจักสาน จากจังหวัดยโสธร
โอกาสนี้ พระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ด้วยทรงมีพระประสงค์ที่จะยกระดับสินค้าพื้นเมืองโดยเฉพาะผ้าไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นที่รู้จัก เพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพิ่มช่องทางการตลาด ยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระกรุณาธิคุณแก่กลุ่มสมาชิกและผู้ประกอบการเป็นล้นพ้น

#ทรงพระเจริญ #AssavarakChannel

แนะนำ